ครบรอบ 241 ปี วันที่ 21 เมษายน 2566 นี้ เป็นวันคล้ายวันสถาปนา กรุงรัตนโกสินทร์ และวันยกเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 7.00 ถึง 9.00 น. มีการประกอบพิธีบวงสรวงสังเวยตามพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์ หลังจากประกอบพิธีเสร็จแล้ว ตั้งแต่เวลา 9:00 น ถึง 20:00 น. เปิดให้ประชาชนได้เข้ากราบสักการะขอพรองค์พระหลักเมืองรวมถึงเทพารักษ์ทั้ง 5 องค์
สำหรับ ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร เป็นปูชนียสถานสาคัญอันศักด์สิทธิ์ของประเทศไทย เป็นที่ประดิษฐานของพระหลักเมืองและเทพารักษ์ทั้ง 5 ที่ปกปักรักษาพระนครและประเทศชาติให้มีเอกราช เจริญรุ่งเรือง ได้แก่ เจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรี
และยังมีหอพระที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดให้ประชาชนได้มาสักการะบูชา ซึ่งในแต่ละวันจะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศนำดอกไม้ ธูปเทียนตลอดจนเครื่องบวงสรวงสังเวยไปสักการะบูชา และบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สถิตอยู่ในศาลหลักเมือง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนทั่วประเทศ จึงนับได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้ นอกจากจะมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง และเนื่องในโอกาส การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ครบรอบ 241 ปี ในปีพุทธศักราช 2566
21 เมษายน วันสำคัญของไทย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี มาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระราชวังหลวง” ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ โดยการก่อสร้างพระราชวังหลวงเริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อพุทธศักราช 2325
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทำ พิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน ปีพุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา
ทั้งนี้ การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามพระตำราที่เรียกว่า “พระราชพิธีนครฐาน” ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง
โดยราชธานีใหม่มีนามว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” (เดิมมีชื่อว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์”) ชื่อการตั้งกรุงเลียนแบบมาจากชื่อกรุงในสมัยอยุธยาว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี ศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานี บูรีรมย์ อุดมนิเวศน์มหาสถาน” และการสร้าง “พระบรมมหาราชวัง” ในกรุงเทพมหานครนั้น ก็ได้สร้างเลียนแบบพระบรมมหาราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน